บุกรั้วจุฬาฯ ถามหาเหตุผล ทำไมเลือก ‘เนติวิทย์’

ผู้เขียน วรวิทย์ ไชยทอง armmatichon@gmail.com  เผยแพร่ครั้งแรกที่ มติชนออนไลน์

 

คำถามสำคัญอันหนึ่งหลังปรากฏการณ์สมาชิกสภานิสิตจุฬาสมัยปัจจุบันเทคะแนนเลือกนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตจากคณะรัฐศาสตร์ ขึ้นเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯประจำปีนี้ สร้างความประหลาดใจไม่น้อยในสังคม สื่อมวลชนสำนักต่างๆ โดยเฉพาะข่าวออนไลน์นำเสนอข่าวดังกล่าวกันคึกคักตลอดวัน

เพราะนายเนติวิทย์เป็นนิสิตธรรมดาที่ไม่ธรรมดา มีประสบการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่สมัยมัธยม เป็นคนที่ประกาศตัวว่ามีจุดยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และเคลื่อนไหวในประเด็นเสรีภาพมาแล้วบ่อยครั้ง

หากเป็นยุคประชาธิปไตย เชื่อว่าสื่อมวลชนคงไม่ส่องสปอตไลต์ลงมาที่ตัวนายเนติวิทย์มาก แต่นี่คือยุคตรงข้ามกับประชาธิปไตย การนำเสนอแนวคิดทั้งทางการเมือง การศึกษา การปฏิรูปต่างๆ หรือแม้แต่การรณรงค์เลิกการเกณฑ์ทหารของนายเนติวิทย์ ดูจะเป็นที่น่าสนใจไม่น้อย หลายแนวคิดเกิดเสียงตอบรับจากสังคม แต่หลายแนวคิดก็ยังคงสร้างข้อถกเถียงและมีคนประกาศไม่เห็นด้วยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

คำถามสำคัญก็คือ คนที่ถูกสังคมบางส่วนมองว่าเป็นคนสุดโต่ง มีวิธีคิดค่อนข้างสุดขั้ว แปลกจากปกติ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในบางครั้ง หากเขาไม่ได้รับเลือกก็คงเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครสนใจ แต่เขากลับได้รับเลือกจากเสียงส่วนใหญ่ในสภานิสิตในมหาวิทยาลัยที่มีภาพลักษณ์ค่อนข้างอนุรักษนิยม นอกจากปัจจัยเชิงตัวบุคคลของนายเนติวิทย์เองแล้ว มันน่าจะมีปัจจัยอย่างอื่นอีกไหม?

นายธรณ์เทพ มณีเจริญ นิสิตคณะรัฐศาสตร์ หนึ่งในสมาชิกสภานิสิตจุฬาตอบคำถามเรื่องนี้ โดยเชื่อว่านิสิตรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่สภาพสังคมหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ มันไม่เอื้อให้เขาแสดงความคิดเห็น เช่น หากใครทำตัวแหวกแนว ก็จะมองว่าทำตัวผิดประเพณี ผิดจารีต ซึ่งการแสดงความคิดเห็นมักถูกขัดโดยผู้ใหญ่ เมื่อมีคนนำที่ดูลักษณะแล้วน่าจะมีความเข้มแข็ง เขาจึงพร้อมใจกันเลือก เพราะเชื่อว่าหากมีคนนำที่เข้มแข็งกว่าเดิมแล้ว แนวคิดที่สร้างสรรค์ของเด็กรุ่นใหม่น่าจะได้รับการตอบรับ และถูกนำไปปฎิบัติได้ รวมถึงกรณีการให้ข้อคิดกับสังคม เช่นกรณีการถกเถียงเรื่อง พ.ร.บ.คอมพ์ ซึ่งถูกมองว่ามีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิ มีการถกเถียงในสภานิสิตอย่างมากในปีก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่มีการแถลงจุดยืนใดๆ

ด้านนายธนวัฒน์ วงศ์ไชย นิสิตจากคณะเศรษฐศาสตร์ อธิบายว่า โครงสร้างของสภาก็เหมือนกับ ส.ส.ของประเทศ ส่วนองค์การบริหารสโมสรนิสิต หรือ อบจ. ก็เหมือนกับฝ่ายบริหารประเทศ โดยสภามีหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งนายธนวัฒน์เล่าเพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต กรณีการล่ารายชื่อได้กว่า 800 รายชื่อ ของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เกี่ยวกับเรื่องปัญหาการบังคับ ตรวจเข้มชุดเครื่องแบบนิสิต จนเกิดปัญหาสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเมื่อปีที่ผ่านมา ที่เรื่องเข้าสภาไปแล้ว แต่ถูกผู้ใหญ่แค่คนเดียวแทรกแซง โดยโทรมาทางโทรศัพท์ บังคับให้สภาปัดตกในเรื่องนี้ ไม่ให้มีการจัดเสวนาหรือทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่รายชื่อที่รวบรวมมามีกว่า 800 รายชื่อ การถูกปัดตกดังกล่าว จึงดูเหมือนสภานิสิตไม่มีความหมายอะไร

ส่วนเรื่องการเลือกนายเนติวิทย์เป็นประธานนั้น เห็นตรงกันว่าเป็นเรื่องของการเลือกเพื่อถ่วงดุลอำนาจมากกว่า เพราะมองว่าสภาชุดก่อนๆ ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือกระบอกเสียงของนิสิต การที่นายเนติวิทย์เสนอตัวขึ้นมา คนในสภาก็มองว่าน่าจะสามารถจัดการอะไรได้ดีกว่าคนก่อนๆ โดยจากประเด็นปัญหาอย่างเรื่องชุดนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ก็ทำให้เห็นแล้วว่าเสียงของสภานิสิตไม่มีค่าเลย การเลือกนายเนติวิทย์เป็นการมองผลประโยชน์ภายในจุฬาฯเป็นหลัก ไม่ได้มองว่าสังคมภายนอกจะมีแนวคิดอย่างไร

ด้านนายศุภลักษณ์ บำรุงกิจ นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ อีกท่านหนึ่ง กล่าวยืนยันว่าคนที่มองว่าจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตคนมีแนวคิดอนุรักษนิยม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงใดๆ อาจจะไม่จริงเสมอไป จริงๆ นิสิตจุฬาฯที่มีวิธีคิดก้าวหน้ามีเยอะ แต่แน่นอนว่าในเชิงโครงสร้างของมหาวิทยาลัยก็ยังมีความเป็นอนุรักษนิยมอยู่ ทำให้บางเรื่องก็ทำอะไรมากไม่ได้ เมื่อมีคนที่ประกาศตัวว่าพร้อมจะเปลี่ยนแปลงบ้าง เขาจึงได้รับเลือกตั้งทันที

เมื่อถามถึงกรณีอุปสรรคขัดขวางที่คาดว่าจะมีขึ้นหากนายเนติวิทย์เข้าปฏิบัติงานจริงๆ นายธรณ์เทพจากคณะรัฐศาสตร์ เชื่อว่าก็อาจจะถูกขัดขวางจาก ส.ส.-นิสิตบางส่วนที่เห็นว่าจุฬาฯไม่ควรไปยุ่งกับสังคมภายนอกมาก ขณะที่นายธนวัฒน์จากคณะเศรษฐศาสตร์ เห็นว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในการทำงาน ดังเช่นกรณีการต่อสู้เรื่องชุดนิสิตของคณะวิศวะในปีนี้ก็ต้องจับตาดู เพราะเป็นปีที่สภาแสดงจุดยืนชัดเจนในด้านความเป็นอิสระ และจุดยืนปกป้องเสรีภาพของนิสิตคณะต่างๆ คงจะไม่ยอมให้ใครแทรกแซงได้ ส่วนนายศุภลักษณ์จากคณะเศรษฐศาสตร์ ระบุว่าเป็นห่วงเรื่องอำนาจของสภานิสิต ที่เพิ่งมีแก้ข้อบังคับไปเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเป็นการตัดอำนาจการตรวจสอบของสภาลง ในมาตรา 19 จาก 7-8 ข้อ เหลือเพียง 4 ข้อ

ภาพ : ธนวัฒน์ วงศ์ไชย, ธรณ์เทพ มณีเจริญ, ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ

นั่นคือเหตุผลคร่าวๆ จากคำถามถึงผลการเลือกตั้งของนายเนติวิทย์ ว่าทำไมเขาถึงได้รับเลือกจากสมาชิก ซึ่งมีเหตุผลสำคัญอันหนึ่งคือเป็นเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารภายในองค์กร

 

แม้ภาพภายนอกนิสิตจุฬาฯ ดูเหมือนจะเล่าเรียนจนไม่สนใจปัญหาการเมือง-สังคม เมื่อถามคำถามนี้กับนิสิตทั้ง 3 คน ว่าจะอธิบายเรื่องนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้เล่าเรียนที่นี่อย่างไร

นายธรณ์เทพวิเคราะห์ว่า เป็นเรื่องจริงที่นิสิตส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยสนใจปัญหาการเมือง-สังคม โดยมองว่าเป็นผลมาจากการขัดเกลาทางสังคม ที่คนไทยไม่ค่อยได้สนใจการเมืองกันมาก เน้นการยึดมั่นธรรมเนียมปฎิบัติ ซึ่งไม่ได้เป็นเฉพาะในจุฬาฯ แต่เป็นผลมาจากโครงสร้างของสังคมไทย นายธรณ์เทพมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังเป็นการจุดกระแสความสนใจทางการเมืองในมหาวิทยาลัยของนิสิตที่สำคัญครั้งหนึ่งของมหาวิทยาลัยอีกด้วย ขณะที่นายศุภลักษณ์อธิบายต่อในฐานะคนเรียนเศรษฐศาสตร์ว่า นิสิตจุฬาฯส่วนใหญ่ค่อนข้างมีฐานะ ดังนั้น ไม่ว่าผู้นำประเทศจะเปลี่ยนไปมากแค่ไหน ก็ไม่กระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้มีฐานะดีนักก็จะตื่นตัวกับนโยบายต่างๆ ในการเลือกตั้งมากกว่า ส่วนนายธนวัตน์มองว่า เป็นเรื่องจริงที่เด็กจุฬาฯไม่ค่อยสนใจการเมือง โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์นิสิตวิศวะออกมาเคลื่อนไหว แต่กลับถูกปิดกั้น และขอให้หยุด เหล่านี้มีผลให้นิสิตไม่กล้าที่จะคิดต่าง ไม่กล้าที่จะออกมาเคลื่อนไหว กฎและระเบียบที่กดให้นิสิตอยู่ใต้กรอบ ดังนั้น ตอนนี้จึงไม่ต้องแปลกใจที่นิสิตจำนวนมากต้องการคนที่คิดต่างออกไปจากกรอบ

เมื่อถามว่า ในมหาวิทยาลัยตอนนี้ยังมีปัญหาที่น่าห่วงใยในประเด็นเรื่องสิทธิต่างๆ หรือไม่ ก็พบว่ายังมีเรื่องที่น่าห่วงอยู่ เช่นเรื่องรับน้อง บางคณะยังมีระบบว้ากอยู่ บางคณะแม้ไม่มีความรุนแรงโดยตรง แต่ก็ยังมีการสร้างความกดดันอ้อมๆ รวมถึงปัญหาชุดนิสิต ที่คณะรัฐศาสตร์ นิสิตไม่จำเป็นต้องใส่เครื่องแบบนิสิตมาเรียน แต่คณะอื่นไม่สามารถทำได้ มีการหักคะแนนอย่างจริงจัง เรื่องนี้แม้จะมีมุมมองสองส่วน คือส่วนที่มองเรื่องระเบียบวินัย กับส่วนที่มองว่ามันไม่จำเป็นต่อการศึกษาเล่าเรียนที่ดี ซึ่งไม่ว่าจะห้ามยังไง แต่แนวคิดเชิงวิพากษ์ว่ามันไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยได้เกิดขึ้นแล้ว

“คณะรัฐศาสตร์แต่งชุดไปรเวตมาเรียนได้ แต่คณะอื่นทำไม่ได้ มีการหักคะแนนด้วย ซึ่งผมว่าการมาเรียนในไทยช่วงหน้าร้อนแบบนี้ แล้วมาบังคับแต่งตัวแบบนี้ มันก็ทั้งร้อนและอึดอัด ที่สำคัญ ผมคิดว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการเรียนว่าผลการเรียนจะดีหรือไม่ดีใช่ไหม? และยังเป็นเรื่องของสิทธิด้วย การใส่มันควรจะต้องมีประโยชน์บางอย่าง” นายธนวัฒน์ระบุ

กลับมาที่ประเด็นกรณีนายเนติวิทย์ เห็นได้ชัดว่าในกลุ่มนิสิตเองมีการถกเถียงเรื่องดังกล่าวอย่างมาก โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ นายธรณ์เทพเล่าว่า มีกระแสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในโลกออนไลน์นิสิตจำนวนมากมีความกล้าที่จะแสดงความเห็นมากขึ้น

เมื่อถามว่า คิดอย่างไรหลังมีคนวิจารณ์ว่าการตัดสินใจครั้งนี้เหมือนเป็นการทำลายประวัติศาสตร์และคุณค่าของมหาวิทยาลัย เรื่องนี้นายธนวัฒน์เห็นว่า สถาบันการศึกษาที่จะมีความเข้มแข็งได้นั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง หากอยู่ที่เดิม ก็เหมือนสิ่งที่ตายแล้ว ศตวรรษที่สองของจุฬาฯ ควรจะออกจากกรอบเดิม ควรจะต้องพัฒนาประวัติศาสตร์ของตัวเอง ทำตามจุดประสงค์ของการตั้งสถาบันการศึกษา โดยเอาพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 6 เป็นที่ตั้ง ที่มีหลักสำคัญคือการจัดการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับประชาชน ส่งออกความคิดที่ดีให้กับสังคมในภาพรวม

“เราไม่ควรเข้าใจจุฬาฯแค่เปลือกนอก แต่ควรเข้าใจแก่นของการก่อตั้งสถาบันการศึกษาแห่งนี้“ นายธนวัฒน์ กล่าว

ขณะที่นายธรณ์เทพยืนยันว่า คนรุ่นใหม่ไม่ได้พยายามจะทำลายคุณค่าเดิม แต่เป็นความพยายามที่จะทำให้ดีขึ้น

“เราควรเลิกสนใจเรื่องความเข้มงวดเกี่ยวกับเครื่องแบบการศึกษา แล้วมาตั้งคำถามว่าเราจะสร้างการศึกษาออกมาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้อย่างไร” นายธรณ์เทพกล่าว

ส่วนกรณีกระแสวิจารณ์ที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลนั้น ทุกคนตอบตรงกันว่าชินแล้ว โดยนายธรณ์เทพเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวแปรสำคัญคือการปลุกเร้าโดยสื่อที่ไร้จรรยาบรรณ ที่ลงข่าวโจมตีนายเนติวิทย์อย่างไร้เหตุผล รวมถึงโจมตีสภานิสิตจุฬาฯและมหาวิทยาลัยด้วย โดยการโจมตีจุฬาฯเพิ่งจะมีมาหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะแต่ก่อนจะมีการพูดถึงแต่ในแง่ชื่นชม การทำแบบนี้คาดว่าน่าจะมีจุดประสงค์บางอย่างที่ไม่ดี การสร้างความเกลียดชังด้วยการพาดหัวข่าวแรงๆ ซึ่งในความเป็นจริงคนเราไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ส่วนนายศุภลักษณ์เห็นว่า สังคมไทยเองคนจำนวนมากยังขาดความคิดในเชิงวิพากษ์ และวิจารณญาณในการรับสื่อ ซึ่งก็ถือเป็นความท้าทายของสภานิสิตในปีนี้ ซึ่งต้องชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ ให้ได้ รวมถึงทำหน้าที่ให้ดี เอาชนะคำสบประมาทให้ได้

เมื่อถามว่า ในอนาคตกังวลไหมว่าทำอะไรแล้วจะถูกนำไปเป็นกระแสสังคมและเสี่ยงมีการปลุกเร้า นายธรณ์เทพกล่าวว่า ก็เป็นสิ่งที่คาดการณ์กันไว้ว่าจะเจออะไร แต่คนรุ่นใหม่ก็พร้อมที่จะยืนหยัดกับความถูกต้อง เพราะหากเรามัวแต่กลัว สิ่งที่ดีก็จะไม่เกิดขึ้น

เช่นเดียวกับนายธนวัฒน์ที่บอกว่า “ความถูกต้องก็คือความถูกต้อง ผมคิดว่าหากเป็นประชาธิปไตยก็ต้องฟังเสียงที่วิจารณ์แล้วด้วย คำด่าที่หยาบก็ไม่สนใจ แต่ที่เป็นเหตุเป็นผลก็ต้องรับฟัง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่มีคำวิจารณ์สะท้อนกลับมา”

“เรื่องบางเรื่องมันเป็นโคมลอย ในอนาคตก็ขอให้ใช้วิจารณญาณในการรับสาร สภาเองก็มีเพจของสภา ก็อาจจะติดตามตรงนั้นก็ได้ หากสงสัยก็แชตถามได้เลย มีแอดมินคอยตอบทันที” นายธนวัฒน์ยืนยัน

เมื่อถามถึงอุดมคติ ว่าบทบาทหน้าที่ที่ดีของมหาวิทยาลัยคืออะไร นายศุภลักษณ์เห็นว่า มหาวิทยาลัยจะต้องสอนคนให้เป็นมนุษย์ที่เห็นใจผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตนเอง และยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ขณะที่นายธรณ์เทพ ระบุว่า มหาวิทยาลัยคือสถานที่พัฒนาคน นอกจากให้ความรู้ ก็ต้องพัฒนาจิตใจและจริยธรรม สอนให้คิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ได้ สอนให้รับฟังความเห็นต่าง นี่คือสิ่งที่ตนคาดหวังไว้ว่าสถาบันการศึกษาของไทยจะสามารถนำพาคนไทยไปสู่จุดนั้นได้

กรณีความเห็นต่อความคิดทางการเมืองของเด็กรุ่นใหม่ ในมุมมองของเด็กรุ่นใหม่เอง ในฐานะนักเรียนรัฐศาสตร์ นายธรณ์เทพเห็นว่า เด็กรุ่นใหม่มีความคิดเชิงวิพากษ์ค่อนข้างมาก โดยเล่าว่า ตนเองเกิดและเติบโตในช่วงที่มีการเซ็นเซอร์จากภาครัฐน้อย รัฐบาลทหารลดบทบาท มีรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งการเกิดในยุคประชาธิปไตยเต็มใบ ต่อมาได้เห็นเหตุการณ์การรัฐประหารปี 2549 และครั้งล่าสุดคือปี 2557 ทำให้คนรุ่นใหม่เกิดการเปรียบเทียบระหว่างยุคประชาธิปไตยเต็มใบกับยุคที่ไม่มีประชาธิปไตยต่างกันอย่างไร

“ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่ก็รู้แบบผม และสามารถมีวิจารณญาณคิดได้ว่าอะไรดี ไม่ดีอย่างไร การคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าใจสังคมแม้แต่น้อย หรือไม่มีที่มาที่ไปของจุดยืนทางการเมือง เป็นความเข้าใจที่ผิด” นายธรณ์เทพกล่าวยืนยัน

ด้านนายธนวัฒน์ เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่โตมาในยุคโลกาภิวัตน์ ไม่ได้รับสื่อมุมมองเดียว แต่รับจากหลายมุมมอง มีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศในเรื่องต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะการนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทย ผมคิดว่าคนรุ่นใหม่คิดเป็น หลายเรื่องคนรุ่นใหม่ก็มีความรู้มากกว่า เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลความเห็นต่างๆ ได้ง่าย ที่คนสมัยก่อนไม่สามารถทำได้ ซึ่งคนรุ่นนี้ในอนาคตก็เป็นกำลังของประเทศต่อไป ดังนั้น ผมคิดว่ามันไม่เร็วเกินไปหรอกที่จะให้คนรุ่นใหม่ได้คิดหรือได้แสดงออกบ้าง ขณะที่นายศุภลักษณ์มองเรื่องการรับข้อมูลจากการสื่อสาร โดยระบุว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่าและมีวิจารณญาณในการรับสื่อมากกว่าด้วยซ้ำ จริงๆ ส่วนตัวคิดว่าไม่เกี่ยวกับอายุ และไม่ชอบระบบอาวุโส

เมื่อถามว่า แต่ละคนคิดเห็นอย่างไรกับวาทกรรมหัวรุนแรง ซึ่งในอดีตเคยถูกใช้วิจารณ์กลุ่มนักศึกษาที่คิดต่างจากรัฐ และแม้ในปัจจุบันก็ยังพอมีให้เห็นอยู่

นายศุภลักษณ์อธิบายว่า วาทกรรมหัวรุนแรงมันก็มีหลายแบบ หากเป็นในตะวันออกกลางที่มีการใช้อาวุธ อันนั้นก็อาจจะรุนแรงจริงๆ แต่ถ้าหากว่าวิจารณ์ทุกอย่างด้วยหลักเหตุผล ด้วยหลักวิชาการ ตนคิดว่ามันไม่ใช่ความรุนแรงแต่อย่างใด มันคือความเห็น เช่นเดียวกับนายธนวัฒน์ที่ระบุว่า การที่เราเห็นแย้งเห็นต่าง หรือมองอะไรที่เป็นปัญหา เป็นเรื่องปกติมาก ตัวอย่างเช่น ในสังคมยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ขณะที่ไทยซึ่งเราบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตย 99.99% เราจะไม่ยอมให้มีการคิดต่างกันเลยหรือ

คำว่าหัวรุนแรงจะเป็นคำไร้สาระ คนเห็นต่างต้องเรียกว่าก้าวหน้าด้วยซ้ำไป” นายธนวัฒน์ระบุ

ขณะที่นายธรณ์เทพเห็นว่า “ถ้าการพูดความจริงถือว่าเป็นหัวรุนแรง มันไม่ใช่ความผิดของเรา แต่เป็นเพราะคนที่หัวไม่รุนแรงไม่มีความกล้าหาญเชิงจริยธรรมต่างหาก เมื่อเจออำนาจก็เป็นไผ่ลู่ลม ใครที่อยู่ไม่เป็นก็จะถูกมองว่าเป็นหัวรุนแรง ผมมองว่าการที่เราเป็นหัวรุนแรง แต่ทำให้สังคมดีขึ้นได้โดยการพูดความจริง มันก็เป็นสิ่งที่ดี ดีกว่าการเป็นคนหัวไม่รุนแรง แต่ทำให้สังคมตกต่ำ ย่ำแย่ และซุกปัญหาไว้ใต้พรม และคนแบบนี้ต่างหากที่ทำลายคุณค่าสถาบันการศึกษามากกว่า”

สุดท้ายคือการถามความเห็นว่า แต่ละคนมีความฝันกับสังคมประเทศชาติอย่างไร นายธรณ์เทพระบุว่า มีความฝันคล้ายกับป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนหนังสือเรื่อง “จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” อยากเห็นคนไทยมีสวัสดิการ อยู่ในสังคมที่ปลอดภัย ได้รับการดูแลจากรัฐตั้งแต่เกิดจนตาย ขณะที่นายศุภลักษณ์บอกว่า อยากให้คนจนลืมตาอ้าปากได้ อยากให้มีการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น แก้ไขข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้คนจนสามารถทำมาหากินได้ นอกจากนี้ยังมีความฝันอยากให้คนมีการศึกษาดี เป็นสังคมที่ยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง คนในสังคมมีเหตุผล คิดแบบมีวิจารณญาณ ขณะที่นายธนวัฒน์บอกว่า มีความฝันว่าอยากให้สังคมเป็นสังคมที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันบนหลักของเหตุผล เห็นต่างกันได้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ อยากให้เป็นสังคมที่เท่าเทียมกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำ คนในสังคมมีสวัสดิการที่ได้รับการจัดสรรอย่างทั่วถึง มีกฎหมายที่จัดการกับระบบการผูกขาดในสังคมทุนนิยม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำเพราะขณะนี้เราเหลื่อมล้ำกันเป็นอันดับสองของโลกแล้ว

Leave a comment